เผยแพร่โดย ผู้ดูแลระบบ| 03 มีนาคม 2021
เมื่อวันจันทร์ที่ 1 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา ศาสตราจารย์ ดร. อภิชาติ วรรณวิจิตร ผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการดีเอ็นเอเทคโนโลยี (DNA TEC) ได้มีโอกาสเข้าร่วมแสดงผลงานของห้องปฏิบัติการ ดีเอ็นเอ เทคโนโลยี (DNA TEC) ต่อสภามหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน
โดย ศาสตราจารย์ ดร. อภิชาติ ได้นำเสนอผลงานของห้องปฏิบัติการฯ ที่ได้ใช้ดีเอ็นเอเทคโนโลยี เพื่อช่วยในการควบคุมคุณภาพข้าวหอมมะลิไทยพรีเมี่ยมระดับโลก อีกทั้งห้องปฏิบัติการดีเอ็นเอเทคโนโลยี (DNA TEC) ยังมีบทบาทสำคัญต่อโรงสีในพื้นที่และผู้ส่งออกในการตรวจสอบความบริสุทธิ์ พันธุ์ข้าวที่เก็บเกี่ยวโดยเกษตรกรก่อนการแปรรูป เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของข้าวหอมมะลิไทย โดยนับตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมาห้องปฏิบัติการดีเอ็นเอเทคโนโลยี (DNA TEC) สามารถทดสอบตัวอย่างข้าวหอมมะลิได้มากกว่า 54,472 ตัวอย่าง และมีการตรวจสอบด้วย polymerase chain reactions ถึง 1.5 ล้านรีแอคชั่น ซึ่งจากการตรวจความบริสุทธิ์พันธุ์ข้าวโดยใช้ DNA-based มีผลต่อราคาและปริมาณการส่งออก ในช่วงแปดปีในระหว่างปี 2535 ถึง 2543 ปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นต่อปีที่ 279,000 ตันโดยมีรายได้การส่งออกรวม 8 ปีที่ 86,117 ล้านบาทมากกว่าก่อนที่จะใช้วิธีการตรวจความบริสุทธิ์พันธุ์ข้าวโดยใช้ DNA-based ทำให้รายได้ของเกษตรกรเพิ่มขึ้นปีละ 1,280 ล้านบาทหรือ คิดเป็น 11,521 ล้านบาทในช่วงแปดปี
ในอนาคต ห้องปฏิบัติการดีเอ็นเอเทคโนโลยี (DNA TEC) มีความต้องการที่จะนำเทคโนโลยีใหม่ที่ใช้วิธีการทดสอบในระดับโมเลกุลเพื่อใช้ทดสอบให้มีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น อีกทั้ง ยังคงมองหาเทคโนโลยีที่ราคาถูกกว่าและรวดเร็วกว่าเพื่อการตรวจสอบความบริสุทธิ์พันธุ์ข้าวที่สามารถทดสอบได้ทั้งในพื้นที่กลางแจ้ง และบนพื้นที่เพาะปลูก เพื่อให้มีต้นทุนที่ต่ำลงสำหรับรองรับความต้องการของผู้ส่งออกข้าว และเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของข้าวไทยพรีเมี่ยมในตลาดโลก