เผยแพร่โดย ผู้ดูแลระบบ| 08 กรกฏาคม 2020
ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดีเอ็นเอ ได้เข้ามามีบทบาทกับชีวิตประจำวันของมนุษย์มากขึ้น ทั้ง การแพทย์ อุตสาหกรรม และการเกษตร โดยเฉพาะด้านการเกษตรได้เริ่มนำเอาเทคโนโลยีลายพิมพ์ดีเอ็นเอ (DNA Fingerprint) ไปใช้ในการตรวจสอบความบริสุทธิ์ของสายพันธุ์ และการตรวจสอบพันธุกรรมลูกผสม นอกจากนี้นโยบายด้านการปรับปรุงพันธุ์พืชที่ภาครัฐให้การสนับสนุนเทคโนโลยีแก่ภาคเอกชน เช่น ผู้ผลิตพันธุ์ทางการค้าในอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้มีการริเริ่มการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการด้าน DNA Fingerprint ขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางที่จะนำเทคโนโลยีดีเอ็นเอ มาส่งเสริมการทำงานของภาครัฐและเอกชน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประเทศในเวทีการค้าโลกแบบตลาดเสรี
ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้เล็งเห็นความสำคัญในการเตรียมความพร้อมทั้งในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและการพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีดีเอ็นเอ ไบโอเทคได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในการจัดตั้ง “หน่วยปฏิบัติการ DNA Fingerprint ด้านพืช” ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ในปี 2538 (มติของคณะกรรมการบริหารไบโอเทค ครั้งที่ 1/2538 เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2538) โดยมีระยะเวลาในการดำเนินงาน 2 ปี มีวัตถุประสงค์เพื่อเตรียมความพร้อมทั้งทางด้านเทคนิคและบุคลากรในการนำเทคโนโลยีดีเอ็นเอ ไปใช้ในการให้บริการด้านการตรวจสอบความถูกต้องทางพันธุกรรมของเมล็ดพันธุ์ที่ผลิตขึ้น รวมทั้งความบริสุทธิ์ของสายพันธุ์ เพื่อเปิดบริการให้กับภาครัฐและเอกชน ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ให้การสนับสนุนบุคลากรที่มี ความรู้ ความสามารถเฉพาะด้าน รวมถึงสถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ของมหาวิทยาลัย และไบโอเทคให้การสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงาน ครุภัณฑ์วิทยาศาสตร์ที่จำเป็น และค่าจ้างบุคลากร ต่อมาในปีงบประมาณ 2541 คณะกรรมการบริหารไบโอเทค ในคราวการประชุมครั้งที่ 1/2541 เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2541 อนุมัติการสนับสนุนหน่วยปฏิบัติการฯ ระยะที่ 2 เป็นเวลาอีก 2 ปี และเปลี่ยนชื่อหน่วยปฏิบัติการฯ เป็น “หน่วยปฏิบัติการ DNA Fingerprint” โดยเน้นการดำเนินงานด้านบริการเป็นหลัก และขยายขอบเขตการให้บริการที่ครอบคลุมมากกว่าด้านพืช และดำเนินการวิจัยและพัฒนาเพื่อสนับสนุนงานบริการ โดยหน่วยปฏิบัติการฯ จะต้องเพิ่มศักยภาพในการให้บริการ จนสามารถบริหารจัดการและดำเนินงานได้ด้วยตนเอง
การให้บริการของหน่วยปฏิบัติการฯ ต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพ ราคาถูก และสร้างเครือข่าย (networking) ด้านการตลาดและการประชาสัมพันธ์ โดยให้คณะอนุกรรมการบริหารหน่วยปฏิบัติการ DNA Fingerprint ทำหน้าที่กำหนดแนวทางและดูแลกำกับโครงสร้าง การบริหารและการดำเนินงานของหน่วยปฏิบัติการฯ รวมทั้งเสนอแนะ ทิศทางให้เกิดงานบริการและการวิจัยที่เหมาะสม ตลอดจนติดตามและ ประเมินผลความก้าวหน้าของการดำเนินงานของหน่วยปฏิบัติการฯ และผลจากการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารหน่วยปฏิบัติการฯ ครั้งที่ 2/2542 เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2542 ได้สรุปแนวทางการดำเนินงานโดยให้ความสำคัญกับส่วนที่เป็นงานบริการในอนาคตของหน่วยปฏิบัติการฯ โดยมีความเห็นว่า หน่วยปฏิบัติการฯ มีโอกาสและความเป็นไปได้ที่จะสามารถบริหารในเชิงธุรกิจ จึงเสนอให้เตรียมการเพื่อพัฒนาเข้าสู่การดำเนินงานในรูปแบบธุรกิจ โดยใช้เงื่อนไขของโครงการพิเศษ หรือเงินทุนประเดิมของ สวทช. ซึ่งจะต้องมีเป้าหมายของรายได้ที่ชัดเจน ทั้งนี้ จะมีศูนย์ลงทุน สวทช.เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบโครงการพิเศษฯ
ในปี 2542 โดยมติของคณะกรรมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ครั้งที่ 5/2542 เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2542 อนุมัติการใช้เงินทุนประเดิมของ สวทช. จำนวน 28,174,222 บาท ในการลงทุนเพื่อดำเนินโครงการพิเศษ “หน่วยปฏิบัติการ DNA Fingerprint” ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2543 - 2547 โดยมีสัดส่วนการร่วมลงทุนจาก สวทช. ร้อยละ 80 และการลงทุนจากมหาวิทยาลัยฯ ร้อยละ 20 และต่อมาสถานการณ์ทางการค้าโลกต้องประสบปัญหาการกีดกันทางการค้า ทำให้หลายประเทศเริ่มหันมาใช้มาตรการการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี ( Non Tariff Barrier : NTB ) โดยเทคโนโลยีการตัดแต่งพันธุกรรม (Genetically Modified Organisms: GMOs) เป็นประเด็นที่มีการพูดอย่างกว้างขวางในการนำมาใช้ปรับปรุงพันธุ์พืชและสัตว์ ทั้งนี้ผลกระทบที่เกิดจากการนำพืชจีเอ็มโอ ไปใช้ประโยชน์ยังเป็นเรื่องที่ ถกเถียงกันในเรื่องความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosafety) ดังนั้น กวทช. ในคราวการประชุมครั้งที่ 2/2543 เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2543 จึงเห็นชอบและอนุมัติให้ใช้ทุนประเดิมจำนวน 35,846,010 บาท เพิ่มเติมให้หน่วยปฏิบัติการฯ ในการพัฒนาห้องปฏิบัติการจำเพาะด้านการตรวจสอบจีเอ็มโอ และได้เปลี่ยนชื่อหน่วยปฏิบัติการฯ เป็น “ห้องปฏิบัติการ DNA Technology” (DNA TEC) เพื่อให้บริการเทคโนโลยีดีเอ็นเอ และบริการตรวจสอบจีเอ็มโอ รวมงบประมาณที่ สวทช. สนับสนุนทั้งสิ้น 64,020,232 บาท ต่อมา กวทช. ในคราวการประชุมครั้งที่ 6/2548 เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2548 อนุมัติให้มีการขยายระยะเวลาการดำเนินงานออกไปอีก 3 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2548 - 2550 เพื่อให้ DNATEC ดำเนินการจัดทำ business model สำหรับการแปรสภาพโครงการฯ เป็นบริษัทหรือรูปแบบอื่นที่เหมาะสม และ กวทช. ในคราวการประชุมครั้งที่ 8/2550 เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2550 ได้อนุมัติการขยายระยะเวลาออกไปอีก 2 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2551 - 2552 เพื่อดำเนินการแปรรูปเป็นบริษัทโดยเน้นแปรรูปเฉพาะงานบริการภาคเอกชน ได้แก่ งานพิสูจน์สารพันธุกรรม และงานตรวจสอบจีเอ็มโอ
การจัดตั้งโครงการพิเศษขึ้นใน สวทช. เพื่อพัฒนาประโยชน์เชิงพาณิชย์ภายใต้ขอบเขตวัตถุประสงค์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 11(3), (4) และ (6) แห่ง พรบ. พัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พ.ศ.2534 ดังนี้ ดำเนินการวิจัย พัฒนาและดำเนินการด้านวิศวกรรม และสนับสนุนการวิจัย พัฒนาและวิศวกรรมของภาครัฐบาล ภาคเอกชน และ สถาบันการศึกษา และส่งเสริมความร่วมมือในกิจกรรมด้านนี้ระหว่างภาครัฐบาล เอกชนและสถาบันการศึกษา ตลอดจนนานาประเทศเพื่อพัฒนาประโยชน์เชิงพาณิชย์ ดำเนินการและสนับสนุนการให้บริการในการวิเคราะห์ทดสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์ การสอบเทียบมาตรฐานและความถูกต้องของอุปกรณ์การให้บริการข้อมูลและการให้คำปรึกษาทางเทคโนโลยี และสนับสนุนการให้บริการอื่นๆ ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดำเนินการ ส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศรวมทั้งการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีทั้งในภาครัฐบาลและเอกชน
ในด้านการบริหารงานของ DNATEC ซึ่งเป็นโครงการพิเศษที่ใช้ทุนประเดิมของ สวทช. ดังนั้นในการดำเนินงานต่างๆ ของ DNATEC จึงจะต้องใช้ระเบียบ “ข้อบังคับ สวทช. ว่าด้วยการบริหารโครงการพิเศษที่ใช้ทุนประเดิมของ สวทช. พ.ศ. 2545” สวทช. ได้แต่งตั้ง ดร.สมวงษ์ ตระกูลรุ่ง เป็นผู้อำนวยการโครงการพิเศษห้องปฏิบัติการฯรับผิดชอบ การบริหารจัดการ การดำเนินงานของ DNATEC ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ ในการกำกับดูแลและติดตามผลการดำเนินงานของ DNATEC ได้ใช้กลไกของคณะกรรมการบริหารโครงการพิเศษห้องปฏิบัติการฯ เพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบายและทิศทางการดำเนินงาน ตลอดจนติดตามประเมินผลการบริหารงานของ DNATEC ซึ่งมีกำหนดวาระคราวละ 2 ปี โดยมีผู้อำนวยการไบโอเทค เป็นประธานคณะกรรมการบริหารโครงการฯ